ประวัติ
พระธรรมทูตไทย
สายประเทศ
อินเดีย-เนปาล

พระธรรมทูต
(อ่านว่า -ทำมะทูด)
หมายถึงภิกษุที่เดินทางไปแสดงธรรม
ในที่ต่างๆ ทำหน้าที่เหมือนทูตทางธรรมหรือทูตของพระศาสนา

พระธรรมจาริก
มีความหมายเดียวเช่นเดียวกันกับ
พระธรรมทูต แต่เป็นคำบัญญัติที่
เกิดทีหลังคำว่าพระธรรมทูต

ปัจจุบันแบ่งพระธรรมทูตออกเป็น 2 ประเภทคือ
พระธรรมทูตในประเทศ กับ
พระธรรมทูตต่างประเทศ

พระธรรมทูตเกิดขึ้นครั้งแรก ในสมัยพุทธกาล

มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสฺสา,
ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ, เย ทิพฺพา จ เย มานุสฺสา.



 จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย
โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ.



มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ, เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ,
สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ,
สนฺติ สตฺตา อปฺปรชกฺข ชาติกา อสฺสวนฺตา ธมฺมสฺส ปริหายนฺติ,
ภวิสฺสนฺติ ธมฺมสฺส อญฺญาตาโร, อหมฺปิ ภิกฺขเว,
เยน อุรุเวลา เสนานิคโม เตนุปสงฺกมิสฺสามิ ธมฺมเทสนายาติ.

“ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตพ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์ แม้เธอทั้งหลายก็พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน เธอทั้งหลาย จงจาริกไป เพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ ขอจงอย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ครบ บริสุทธิ์บริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักมี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม”

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประทานพระดำรัสแก่พระอรหันตขีณาสพ 60 รูป ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในปีที่หนึ่งแห่งการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ นับเป็นพระพุทธปสาสโนบายที่เป็นอมตะมาทุกยุคสมัย จวบจนกระทั่งปัจจุบัน

พระธรรมทูตในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

การทำสังคายนาคร้งที่ ๓ ที่อโศการาม มีพระโมคคัลลานะ ติสสเถระ เป็นองค์ประธาน แสดงกถาวัตถุปกรณ์ในที่ประชุมสงฆ์คัดเลือกภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปที่ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ทรงพระไตรปิฎก แตกฉานในปฏิสัมภิทา ชำนาญในไตรวิชชากระทำสังคยาพระธรรมและวินัย ชำระมลทินในพระศาสนาเหมือนเมื่อครั้งที่พระมหากัสสปเถระ และพระยสกากัณฑเถระเคยกระทำมาแล้ว ประชุมร้อยกรองจัดไว้เป็นหมวดหมู่ เป็นเวลา ๙ เดือนจึงจะแล้วเสร็จ โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์ ส่งพระสมณฑูตออกประกาศพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางในรัฐต่างๆ ๙ สาย ดังนี้

สายที่ 1 มีพระมัชฌันติกเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย คือ แคว้นกัษมีระ (แคชเมียร์) และแคว้านคันธาระ
สายที่ 2 มีพระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา
ทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย คือ แคว้นมหิสมณฑล (ปัจจุบัน คือ รัฐไมซอร์)
สายที่ 3 มีพระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา
ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งได้แก่ แคว้นวนวาสีประเทศ
สายที่ 4 มีพระธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา
แถบชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย อันได้แก่ แคว้นอปรันตกชนบท
(ปัจจุบัน คือ แถบบริเวณเหนือเมืองบอมเบย์)
สายที่ 5 มีพระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา
ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ อันได้แก่ แคว้นมหาราษฎร์
สายที่ 6 มีพระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่โยนกประเทศ (กรีซ)
สายที่ 7 มีพระมัชฌิมเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางดินเดียภาคเหนือ
(แถมเทือกเขาหิมาลัยและประเทศเนปาล)
สายที่ 8 มีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบสุวรรณภูมิ
(ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ไม่อาจตกลงกันได้ว่าที่ใด แต่มีความเป็นกว้าง ๆ ว่า
คือดินแดนที่เป็นประเทศพม่า (เมียนมาร์) ไทย ลาว ญวน เขมร และมลายู)
สายที่ 9 มีพระมหินทเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา
ณ ลังกาทวีป (ปัจจุบัน คือ ศรีลังกา)

การเผยแผ่พระพุทธศาสนามายังประเทศไทยในแดนสุวรรณภูมิ สันนิษฐานว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยทวารวดี เมื่อประมาณ พ.ศ.236 สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกาโดยมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนกลางของไทยในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น ศิลารูปธรรมจักร หรือมีการสร้างพระสถูปเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เหมือนสถูปสาญจีในประเทสอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยศิลปะในยุคนี้ ก็คือศิลปะทวาราวดีนั่นเอง

เมื่อส่งสมณทูตออกประกาศพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในนานาอารยประเทศแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเพิ่มพระราชศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา เสด็จออกธรรมตราตามรอยบาทพระพุทธองค์ บูชาสักการะสังเวชนียสถาน บูรณะ ปฏิสังขร ซ่อมแซม และฟื้นฟูทั่วชมพูทวีป ก่อให้เกิดคุณูปการต่อบวรพุทธศาสนา คือ ทรงประดิษฐานเสาศิลาจารึกตามพุทธสถานสำคัญ สร้างโรงพยาบาล ขุดบ่อน้ำในหมู่บ้าน สร้างศาลาที่พักสำหรับผู้เดินทาง และปลูกพืชอันเป็นยาสมุนไพรในทุกที่ที่ทรงเสด็จไป ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงได้ขนานนามพระองค์ว่า "ปิยเทวทัสสี" หมายถึง มหาราชอันเป็นที่รักของประชาชนและเทวดา หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "พระเจ้าธรรมโศกราช"


พระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย-เนปาล

ประเทศอินเดีย ได้รับได้เอกราชจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2490 และต่อมา ฯพณฯ ศรีเยาวหราลล์ เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอินเดีย ได้เตรียมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น หรือเรียกว่า พุทธชยันตี ใน พ.ศ. 2500 จึงได้ประกาศเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาได้มาสร้างวัดด้วยศิลปะของตน ณ พุทธคยา ดินแดนตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยรัฐบาลอินเดีย ได้จัดสรรที่ดินให้เช่าในนามรัฐบาลต่อรัฐบาลคราวละ 99 ปี และเมื่อหมดสัญญาแล้วสามารถต่ออายุสัญญาได้อีกคราวละ 50 ปี พระธรรมทูตไทย ชุดแรก ณ วัดไทยพุทธคยา พ.ศ. 2502 ทางรัฐบาลได้แจ้งให้คณะสงฆ์ทราบ และคณะสงฆ์ได้ส่ง พระธรรมธีราชมหามุนี มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก พร้อมกับพระสงฆ์อีกสี่รูป ปฏิบัติหน้าที่อยู่สามปี จนถึง พ.ศ. 2505 จึงเดินทางกลับประเทศไทย นับเป็นพระสงฆ์สมณทูตชุดแรกของไทยที่เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนต้นกำเนิด ภายหลังที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งท่านพระโสณะ และพระอุตระไปที่สุวรรณภูมิ เมือ พ.ศ. 236 ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันถึง 2,266 ปี

รายนามเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย-เนปาล

สมเด็จพระธีรญาณมุนี

(ธีร์ ปุณณกมหาเถระ ป.ธ.9)

เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่
พระธรรมธีราชมหามุนี
วัดจักรวรรดิราชาวาส
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 1
ตั้งแต่ พ.ศ. 2502-2506

พระสุเมธาธิบดี

(บุญเลิศ ทัตตสุทธิมหาเถระ ป.ธ.8)

เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่
พระเทพวิสุทธิโมลี
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 2
ตั้งแต่ พ.ศ. 2506-2532

พระเทพโพธิวิเทศ

(ทองยอด ภูริปาโล ป.ธ.9 Ph.D.)

เมื่อเป็น
พระมหาทองยอด ภูริปาโล
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์
ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 3
ตั้งแต่ พ.ศ. 2532- 2554

พระเทพโพธิวิเทศ

( วีรยุทธ วีรยุทโธ BA MA Ph.D )

ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 4
ตั้งแต่ พ.ศ. 2554- ปัจจุบัน