ลุมพินียสถาน

แดนพุทธภูมิ (สี่สังเวชนียสถาน)

ลุมพินีวัน

ประเทศเนปาล แม้จะมีเนื้อที่เพียงน้อยบนโลกใบนี้ แต่กลับมีความยิ่งใหญ่ในหัวใจเหล่าพุทธชน ดินแดนอันลึกลับแห่งนี้เต็มไปด้วยมนต์ขลังที่มีทุกสิ่งอยู่อย่างในตัว ดินแดนนี้มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับประวัติพระพุทธเจ้าและอารยธรรมของศากยะ ซึ่งที่นี่คือที่ๆทำให้ชาวพุทธ มีบรมครูผู้เป็นศาสดาเอกของโลก ด้วยเป็นแผ่นดินที่อุบัติขึ้นของพระมหาบุรุษ ในนามสถานที่ ลุมพินีวันสถาน

อุทยานลุมพินีวันอยู่ในฐานะมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ2540 เป็น1ใน4สังเวชนียสถานที่สำคัญ ด้วยเป็นชาตสถานของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นปฐมปฐพีที่ประทับรอยพระบาทแรกบนผืนโลก และเป็นปฐมธาราที่ทรงสรงสนานพระวรกาย และเปล่งปฐมวาจา วรรณกรรมทางพุทธศาสนาส่วนใหญ่ระบุว่า ที่นี่อยู่กึ่งกลางพอดีระหว่างเมืองพุทธบิดานครกบิลพัสดุ์ และเมืองพุทธมารดาแห่งเทวทหะนคร เป็นสถานที่ที่งดงามใช้ในการพักผ่อนหย่อนใจร่วมกันทั้งฝ่ายศากยะและโกลิยวงศ์ โดยรู้จักกันในนามต่างๆกัน อาทิ ลุมพินีคานนัน ,ลุมพินีวัติกะ ,ลุมพินีอุวันนะ ,ลุมพินีโมกษาวนา และลุมพินีจิตตลัตวนา เป็นต้น

ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เมื่อ 623 ปีก่อนคริสตกาล พระนางมหามายาเทวี (CG:Maya Devi) พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ (CG:Suddhodana)ออกเดินทางจากกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อกลับบ้านเกิดของตนที่เทวทหะนคร เมื่อขบวนเสด็จมาถึงที่นี่ พระนางโปรดบรรยากาศความงามของมวลบุปผาแห่งลุมพินี จึงบัญชาให้พักขบวนเสด็จ ขณะนั้นทรงปวดพระครรภ์และตระหนักว่าใกล้การประสูติ พระนางเสด็จไปสรงน้ำ ณ สระโบกขรณี (CG:Sakya Puskarini) จากนั้นทรงพระดำเนินไปทางทิศเหนือ 25 ก้าว และให้การประสูติพระกุมารด้วยการยืนเหนี่ยวพระกรกับกิ่งต้นอโศก หรือในคัมภีร์เถรวาทบอกว่าเป็นต้นสาละที่ออกดอกงามสะพรั่ง พระกุมารน้อยที่ต่อมาคือผู้หมุนกงล้อแห่งธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งนั้นทรงพระนามว่าสิทธัตถะ หมายความว่า พระผู้ซึ่งสำเร็จปราถนา และยังรู้จักกันในอีกพระนามว่า สาวารถสิทธา (CG: Sarvarthasiddha) แปลว่า ผู้ซึ่งเติมเต็มของความปราถนาทั้งปวง

สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ลุมพันีแห่งนี้ ได้เคยถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นป่าละเมาะและเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ บ้างก็ว่าเกิดจากการรุกรานของศาสนาอื่น และภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่จะด้วยจากสาเหตุใด ก็ไม่สามารถทำให้ความสำคัญของพระพุทธประวัติ และธรรมะของพระองค์ยังคงอยู่และทวีความสำคัญผ่านทศวรรษ

เป็นเวลานับศตวรรษที่ผู้แสวงบุญจากทั่วโลกมาเยือนเพื่อสักการะบูชาสถานที่ประสูติ ดินแดนไร้กาลเวลาที่ตั้งซากถาวรวัตถุโบราณ อันระบุยืนยันสถานที่อุบัติขึ้นของมหาบุรุษเอกของโลก Vo. อนุสรณ์สถานที่ปรากฏ ณ ลุมพินีวันสถานมีหลายส่วนให้รำลึกถึงความสำคัญของพระพุทธเจ้า จุดแรกที่เห็นเด่นเป็นสง่าเมื่อแรกเข้า คือ เสาพระเจ้าอโศกมหาราช

ในคัมภีร์ทิพยวทาน (Divyavadana)กล่าวถึงพระเจ้าอโศกเสด็จมาแสวงบุญลุมพินีพร้อมภิกษุราชครูนามว่าพระอุปคุปต์ หรือทางบาลีเรียกพระโมคคัลลีติสเถระ พระมหาเถระเป็นผู้ชี้ไปยังต้นไม้ว่าเป็นที่ประสูติของพระบรมศาสดา พระเจ้าอโศกจึงทรงบัญชาให้หมายไว้ด้วยแผ่นศิลา และสร้างเสาพร้อมจารึกอักษรพราหมีและบาลี แต่บางที่ก็ว่าเป็นภาษามคธ (Ardha Magadhi) ไว้ 5บรรทัด 90 ตัวอักษร แปลเป็นไทยมีความหมายว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศีผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20 ปีได้เสด็จมาด้วยพระองค์เองแล้วทรงกระทำการบูชา(ณ สถานที่นี้) เพราะว่า พระศากยมุนีได้ประสูติแล้ว ณ ที่นี้ และโปรดให้สร้างศิลาหมาย ณ จุดพระประสูติกาลพร้อมทั้งเสาหิน โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติแล้ว ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้หมู่บ้านตำบลลุมพินีเป็นเขตที่ต้องเสียภาษาเพียง 1 ใน 8 ส่วนเท่านั้น"

เสาพระเจ้าอโศกสร้างขึ้นในศตวรรษที่3 ด้วยหินทรายและหินปูนจากแหล่งหินแถบเนินเขาจุนาร์ใกล้ๆเมืองพาราณสี เสาดั้งเดิมมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือส่วนท่อนเสา(Monolithicpillar) ส่วนหินประดับหัวเสา (Bracket)และรูปสลักหัวเสา(Crowning Figure) ที่เชื่อว่าเป็นรูปม้า อันสอดคล้องจากบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังในช่วงคริสศตวรรษที่ึึ7 ความสูงของเสาเดิมสูงประมาณ 40ฟุต แต่ปัจจุบันเหลือขนาด30x10.5ฟุตส่วนที่อยู่ใต้ดิน 7 ฟุต โดยมีพื้นผิวของฐานเสาเป็นหินสะกัดหยาบ

วิหารมายาเทวี มีการก่อสร้างจากหลายยุคแตกต่างกันไป ยุคแรกที่พบเป็นอิฐที่มีอายุในช่วงคริสศตวรรตที่3ก่อนคริสตาล พระเจ้าอโศกรับสั่งให้สร้างแท่นยกสูงเพื่อวางแผ่นศิลาหมายไว้ข้างต้นไม้ประสูติ ทั้งยังทรงให้สร้างกำแพงอิฐล้อมรอบตำแหน่งสำคัญนี้

ศิลาหมาย (Marker Stone) ถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในลุมพินีก็ว่าได้ ด้วยเป็นที่หมายระบุที่ประสูติของพระพุทธเจ้า เป็นหินศิลาทราย ขนาด70x40 ซม. ตั้งอยู่บนพื้นที่ปูรองด้วยอิฐเผา7ชั้น

ภาพแกะสลักเหตุการณ์ประสูติ จากฝีมือสกุลช่างมธุรา ช่วงศตวรรษที่4 บรรยายภาพประกอบด้วย พระราชมารดายืนเหนี่ยวกิ่งไม้ พระนางปชาบดีโคตมีประคองระหว่างการประสูติ ถัดมาคือพระพรหม และพระอินทร์ทรงรอรับพระกุมาร ส่วนด้านล่างคือพระกุมารประทับยืนบนฐานดอกบัว

ต้นไม้ประสูติ (Nativity tree) จากผู้พบเห็น มีการปลูกต้นไม้ทดแทนต้นเก่าโดยผู้ศรัทธาท้องถิ่นจนถึงศตวรรษที่7 หลวงจีนหยวนจางกล่าวถึงต้นไม้นั้นตายแล้วและไม่มีการปลูกขึ้นแทนใหม่ หลังช่วงเวลานี้ ก็มีการสร้างวัดเพื่อบรรจุภาพสลักพระประสูติกาล และแผ่นศิลาหมายไว้ภายใน และมีการบูรณะปรับปรุงเรื่อยมา แต่ชื่อยังคงเรียกตามพระราชมารดาว่า วิหารมายาเทวีจวบจนถึงปัจจุบัน

ในอาณาเขตลุมพินี ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์(CG:The Sacred Pond) ที่เชื่อว่าเป็นสระนำ้ที่พระนางมายาเทวีทรงสรงสนานก่อนให้ประสูติกาล โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างด้วยการเสริมคันขอบบ่อด้วยอิฐในราวค.ศ1939 หมู่สถูปเจดีย์ (The Stupas) ถูกสร้างล้อมรอบบริเวณที่ประสูติมาตั้งแต่คริตศตวรรษที่3 โดยค้นพบแล้ว31แห่ง นอกจากนี้ยังมีเขตสังฆาวาส (The Monasteries) อยู่ทางด้านทิศใต้ของวิหารมายาเทวี ถูกสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน และถูกสร้างทับอีกหลายช่วงสมัยตามความตั้งใจของผู้ที่ต้องการจะอยู่ใกล้กับจุดที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

อุทยานลุมพินีสถานที่เราท่านได้เห็นได้ปัจจุบัน ได้มีการปรับทัศนียภาพ ตามแผนแม่บทการพัฒนาลุมพินีที่ผ่านความเห็นชอบของสหประชาชาติและรัฐบาลเนปาล ถือเป็นแผนแม่บทที่สมบูรณ์ที่สุด ได้เปลี่ยนที่ราบอันรกร้างจำนวน 3 ตารางไมล์ให้กลายเป็นดินแดนแห่งการประกาศหลักธรรมสากลแห่งสันติ และความเกื้อกูลของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงเทศนาไว้เพื่อมวลมนุษยชาติ แผนแม่บทนี้ช่วยให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้และประสบการณ์สู่จิตวิญญาณแห่งความเป็นพุทธมามกะ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนๆละ1 ตารางไมล์ เชื่อมด้วยทางเดินและคลองยาว1.5กม. โดยพื้นที่ทางใต้คือหัวใจของการออกแบบ มีเสาพระเจ้อโศกเป็นศุนย์กลาง เรียกว่าเขตอุทยานศักดิ์สิทธิ์ ตอนกลางคือเขตพุทธสถาน และทิศเหนือคือพื้นที่เขตหมู่บ้านลุมพินีใหม่ พื้นที่ทรงกลมที่ล้อมรอบพื้นที่สี่เหลี่ยมจตุรัสที่ปรากฏให้เห็นคือ สิ่งสะท้อนถึงความบริสุทธิ์และเรียบง่ายของ “มัลดาล่า” (Mandara) สัญลักษณ์แห่งจักรวาล ประเทศไทยก็คือผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเขตลุมพินีสถาน ด้วยการบูรณะทางเดินเป็นสะพานบุญสู่เขตอุทยานศักดิ์สิทธิ์ การสร้างองค์พระหาบุรุษปางประสูติเป็นสัญลักษณ์การอุบัติขึ้นแล้วและเปล่งอาภิสวาจา ตลอดจนการสร้างสุขสาธาณะเป็นจุดบริการแก่ผู้แสวงบุญทั่วโลก งพุทธบริษัทไทยทั้งประเทศ

พระเทพโพธิวิเทศ (วีรยุทธ์ วีรยุทโธ) หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทสอินเดีย- เนปาล เคยแสดงธรรมไว้แก่ผู้แสวงบุญเมื่อเดินทางมาได้กราบไว้ ณ อุทยานลุมพินี สถานที่ประสูติแห่งพระโพธิสัตว์ สิททัตถะราชกุมาร ไว้ความหนึ่งว่า "สถานที่ประสูติ เราต้องกำหนดว่าเป็นที่เกิดพระพุทธเจ้า เมื่อเราเกิดมาในสมัยที่มีพระพุทธเจ้า ท่านประสูติมาแล้ว และธรรมะที่พระองค์ทรงประทานให้เป็นตัวแทนของพระองค์ยังคงอยู่ เราก็ควรแสดงกำลังที่ข็งแรง แจ้งเกิดในความเป็นศาสนิก เป็นศิษย์ เป็นบุตร เป็นธิดา เราต้องแสดงความใกล้ชิดถึงขนาดนี้ ไม่ใช่อยู่ห่าง ต้องแสดงให้เห็นว่าพระองค์กับเรา มาที่ประสูติของพระองค์ เท่ากับเรามาขอเกิดตามรอยที่พระองค์ทรงมีพระพุทธานุญาติไว้ เหลือสังเวชนียสถานที่ประสูติไว้ให้เรา ก็แสดงว่าเรายังมีโอกาสมาแสดความใกล้ชิด สนิท เสมือนหนึ่งเป็นพงศ์เผ่า เราจะได้ปฏิบัติดังมีพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ เมื่อเราได้เรียนรู้ถึงคำสอนที่อยู่ที่นั่น ได้เรียนรู้ถึงพุทธจริยาที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเรื่องนั้นๆ ได้เรียนรู้ถึงสภาวะของจิตแห่งศรัทธาของตนเมื่ออยุ่ ณ สถานที่นั้นๆ เราก็ประมวลพลังของการเกิดกลับมาให้ถึงความประเสริฐของเรา"