แม่น้ำคงคา

แดนพุทธภูมิ (สี่สังเวชนียสถาน)

สารนาท

เมื่อพระบรมศาสดา ทรงตรัสรู้แล้ว
ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือนหก คือวันวิสาขบูชา 
45 ปีก่อนพุทธศักราชที่ 1 
ทรงเสวยวิมุติสุข คือสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น กิเลสอาสวะ และปวงทุกข์ 
อีก 7 สัปดาห์ 49 วัน จากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินจากโพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี แคว้นกาสี ใช้เวลาเสด็จพุทธดำเนิน 11 วัน 
เสด็จถึงป่าอิสิปตนฤคทายวันใน 
เวลาเย็นวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 8 


เมืองพาราณสีนั้นยิ่งใหญ่ พระองค์จึงตั้งความปรารถนาจะมาเมืองนี้ และในขณะเดียวกันสาวกของพระองค์ คือปัญจวัคคีย์ ผู้ซึ่งเคยบำเพ็ญเพียรทุกกรกริยามาร่วมกัน สถานที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงพบกับปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก เพื่อต้องการนำหลักธรรมที่พระองค์ได้ทรงค้นพบมาเผยแผ่ให้ทราบ สถานที่นี้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างสถูปขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงพบกับกับปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 
เรียกกันว่า เจาคันธีสถูป อยู่ไม่ไกลจากธัมเมกขสถูป ประมาณ 1กิโลเมตร แต่อยู่นอกเขตโบราณสถานเมืองสารนาถ เมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ผิวหน้าของสถูปถูกทำลายลง ปัจจุบันเหลือเป็นฐานอิฐสีแดง ส่วนยอดเป็นโดมแปดเหลี่ยม ซึ่งสร้างเพิ่มเติมภายหลัง เมื่อมุสลิมเข้ามาปกครองพาราณสี ในสมัยพระเจ้าอักบาร์มหาราช สร้างส่วนยอดไว้เมื่อปีพศ. 2131 
เพื่อเป็นที่ระลึกว่า พระชนก หุมายันของพระองค์ ได้เสด็จมาเยือนที่แห่งนี้

เมื่อคราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้แล้ว เดินทางมาจากพุทธคยา มาที่สารนาทแห่งนี้ ในเบื้องต้นเหล่าปัญจวัคคีย์ แสดงความกระด้างกระเดื้อง ด้วยความเห็นผิด ด้วยความเข้าใจผิด กว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า จะจูนความคิด จูนความเป็นมิตรให้เกิดขึ้น ต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะคนที่เคยรักกันกลับมาโกรธกัน เกลียดกัน ณ สถานที่ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้พบ กับเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ในปัจจุบันนี้ ก็มีสถูปองค์ใหญ่ นามว่า เจาคันธี สถูป สถานที่แห่งนี้ หลวงพ่อ พระเทพ โพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศ อินเดีย เนปาล ท่านตั้งชื่อว่า ที่เปิดมิตร ปิดศัตรู

เวลานั้น ปัญจวัคคีย์ยังคงเข้าใจว่า พระพุทธองค์ เลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะในทุกรกิริยา คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว จึงนัดหมายกันทำเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพไม่ยินดี ในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และกล่าวปฏิสันถาร ใช้สำนวนอันเป็นกริยาไม่เคารพแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า

" ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง 5 
เธอจงตั้งใจสดับและปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้าไม่นานสักเท่าใดก็จะได้ตรัสรู้ตาม"

แต่ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้าน แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง 3 ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเดือนด้วยพระกรุณาให้ปัญจวัคคีย์หวนระลึกถึงความหลังดูว่า "ปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณนี้ 
ตถาคตเคยกล่าวกับใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน"

ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ทำให้ปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกัน ถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ปรับทัศนคติ กับเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 พระองค์ก็ได้นำพา เหล่าปัญจวัคคีย์ เดินทางเข้าสู่ใจกลางแห่งป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แวดล้อมด้วยบรรดา เหล่าฤษี ที่คอยสังเกตการณ์ กาลครั้งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ พระผู้มีพระภาคเจ้า จะประกาศความเป็นพระบรมครู เป็นศาสดา เพราะการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่อยู่ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา แต่การที่จะเป็นพระศาสดา อาจารย์ ที่ได้รับการยอมรับจากบุคคลทั้งหลาย ที่สารนาทแห่งนี้เป็นที่พิสูจน์ความยิ่งใหญ่ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แห่งพระบรมครู

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับในสำนักปัญจวัคคีย์ 
1 ราตรี ครั้นรุ่งขึ้น วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 
พระพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมเทศนาครั้งแรก เป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ พระองค์ประกาศ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" 
คือ "พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป" 
หรือพระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อธรรม

"จักระ" คือการหมุนไปของกงล้อ และ "อาณาจักร" ก็คือการหมุนไปของกงล้อแห่งอำนาจ อำนาจของพระราชา อำนาจของผู้เป็นใหญ่ในแคว้น ในเมืองนั้นๆ หมุนอำนาจไป ไปกดขี่ ไปข่มเหง ไปกดดัน ไปปกครองผู้อื่นอยู่ใต้อำนาจ

"ธัมจักร" คือหมุนไปของกงล้อแห่งธรรมะ หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา พระพุทธเจ้าทรงหมุนกระแสธรรม กระแสธัมจักร เข้าสู่กระแสใจของท่านอัญญาโกญทัญญะ พร้อมด้วยพรหม 18 โกฏ เทวดาอีกอีกมากมายในครั้งนั้น และท่านอัญญาโกญทัญญะ ก็เข้าถึงธรรมบรรลุได้เป็นคนแรก

ปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" 
ว่าด้วย มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งละเว้นวิธีการที่สุด 2 อย่าง 
และกล่าวถึงอริยสัจ 4 อันมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ท่านโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ 
ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า"อญญาสิ วต โภ โกณฑญโญ " 
โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ

จากนั้นมา คำว่า "อัญญา"จึงมารวมกับชื่อของท่าน ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งได้บรรลุอรหันตผล
และทูลขอบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าประทานบวช ด้วยพระองค์เอง
ด้วยการเปล่งพระวาจาว่า 

"ท่านจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"

บัดนั้น พระอัญญาโกณทัญญะ จึงเป็นปฐมสาวก หรือพระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า และเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าประทานบวชให้ด้วยพระองค์เอง เป็นพระสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา เป็นอันว่า พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ได้เกิดขึ้นแล้ว ครบองค์บริบูรณ์ในวันนั้น 
ซึ่งชาวพุทธเรียกว่า 
วันอาสาฬหบูชา วันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 8

สำหรับพระอัญญาโกณฑัญญะนั้น ต่อมาท่านได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็น เอตทัคคะ แปลว่า ผู้เชี่ยวชาญ หรือ ผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่ง เป็นเลิศในด้านรัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี 
หรือ ผู้มีประสบการณ์ผ่านชีวิตมามาก และท่านมีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ นางมันตานี ซึ่งมีบุตรชื่อ ปุณณมาณพ ต่อมาพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้อุปสมบทให้แก่หลานของท่านอันปรากฏชื่อภายหลังว่า พระปุณณะ มันตานีบุตร ซึ่งเป็นพุทธสาวกองค์หนึ่งที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนาแตกฉานมาก เพราะได้ศึกษาจากท่านอัญญาโกณฑัญญะนั่นเอง แม้พระสารีบุตรยังปรารถนาจะสนทนาธรรมกับพระปุณณะ มันตานีบุตร ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็น เอตทัคคะ เลิศในทางพระธรรมกถึก คือ ผู้แสดงธรรม

ในส่วนที่สำคัญ อีกข้อหนึ่ง ที่มาประกาศพระพุทธศาสนา คือบรรดาเทวดาทั้งหลาย ผู้ที่เป็นผู้นำของมหาชน คอยจะรับประโยชน์จากการตรัสรู้ของพระองค์ก็คือ ได้ฟังธรรม ธรรมะที่พวกท่านเหล่านี้ประสงค์จะมาฟังก็คือธรรมจักร นัดหมายกันมาแล้ว พระองค์จึงต้องเดินทางมา ที่เมืองนี้ แล้วได้ทรงแสดงธรรม อันเป็นที่บอกถึงทางเดินของผู้แสวงหาวิมุติ ในครั้งนั้น นั่นคือเรื่องของอัตถกิลมัตถานุโยค การทรมานร่างกายของตนเอง กามาสุขัลนิกานุโยค การบำรุง การให้สมตามประสงค์ตามเจตนา คนสมัยนั้นเค้าถือว่า เป็นสองทางที่บรรลุแล้ว มีสองพวก พระองค์จึงสร้างทางสายใหม่ ที่นำสิ่งที่คนทั้งหลายเชื่อถืออยู่แล้ว มาตรัสสอนในทางที่เป็นเอกอุดม เป็นทางอันประเสริฐเรียกว่า มรรคมีองค์แปด ด้วยเหตุอย่างนี้พระธรรมจักร จึงเกิดขึ้น แล้วผู้ที่บรรลุผลของการแสดงธรรม ก็ปรากฏขึ้น ที่มีอยู่ก็คือปัจจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงรองรับอยู่ และที่มีความหนักแน่นละเอียดก็คือ มีกำลังเพียงพอต่อการให้พระพุทธศาสนาเมื่อประกาศแล้ว ขยายต่อไป คือกำลังคน ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ได้แสดงถึง ส่วนที่สุดสองอย่าง ที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธ อันได้แก่ 
"กามสุขัลลิกานุโยค" คือการหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ 
 "อัตตกิลมถานุโยค" คือการทรมานตนให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์มัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิปทาทางสายกลางที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ได้แก่ มรรคมีองค์แปด อริยสัจสี่ คือธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ

มรรค คือ หนทางถึงความดับทุกข์ 
เป็นส่วนหนึ่งของอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหนทาง 8 ประการด้วยกัน 
เรียกว่า "มรรคมีองค์แปด" หรือ "มรรคแปด" โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึงเห็นถูกตามความเป็นจริงด้วยปัญญา

2. สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมอง คิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม

3. สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึงการพูดสนทนา แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม

4. สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงามทางกาย หรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง

5. สัมมาอาชีวะ 
คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่ละเมิดศีล

6. สัมมาวายามะ 
คือ ความอุตสาหพยายาม
ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม

7. สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ

8. สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลศ นิวรณ์อยู่เป็นปกติ

อริยมรรคมีองค์แปด เป็นทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา คือทางที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ สามารถจัดเป็นหมวดหมู่ได้เป็น 
ศีล สมาธิ ปัญญา คือ


ข้อ3-4-5 เป็น ศีล (สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ)
ข้อ6-7-8 เป็น สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ข้อ1-2 เป็น ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ)


เมื่อผู้แสวงบุญได้เดินเข้ามาในพุทธสถาน ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตำบลสารนาถในปัจจุบัน จะได้เห็นสถูปใหญ่ เรียกว่าธัมเมกขะสถูป เป็นสถานที่ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 
ก่อนพุทธศักราช 45 ปี 
ถือเป็นวันกำเนิด อาสาฬหบูชา ครั้งแรก

ธัมเมกขะสถูปนี้ พระเจ้าอโศกเป็นผู้สร้างขึ้น เป็นสถูปขนาดใหญ่ มีความสูง 34 เมตร มีลักษณะเป็นรูปลอมฟาง ศิลปะยุคคุปตะ มีลวดลายหินแกะสลักโดยรอบองค์สถูป คล้ายดอกไม้หรือลายกนก ที่อ่อนช้อยงดงาม ปัจจุบันลวดลายบางส่วนได้สูญหายไป บางส่วนมีการซ่อมแซมขึ้นใหม่

พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงสร้างธัมเมกขสถูปนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงสิ่ง 2 ประการคือ


1. การประกาศพระพุทธศาสนาของพระบรมศาสดา มีองค์พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 
อันแสดงถึงชัยชนะของธรรม เหนือกิเลส 

2. เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์ ที่ทรงส่งพระสาวก ออกไปประกาศพระศาสนา ทั่วดินแดนชมพูทวีป

ราวพุทธศตวรรษที่ 10 หลวงจีนฟาเหียน ได้เดินทางมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และมีบันทึกว่า ธัมเมกขสถูป มีการประดับประดาด้วยหินแกะสลักอย่างสวยงาม มีคำจารึกบนฐานพระพุทธรูป ได้กล่าวถึงพระเจ้ากุมารคุปตะ แห่งราชวงศ์คุปตะได้ยกถวายไว้เป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา พุทธสถานนี้ได้เจริญรุ่งเรืองสืบมา ตั้งแต่สมัยคุปตะตอนต้น จนถึงยุคเสื่อมโทรม

จักรวรรดิคุปตะ เป็นจักรวรรดิอินเดียโบราณ
ที่รุ่งเรืองระหว่างปี พ.ศ 780-1090 
โดยมีอาณาบริเวณที่ครอบคลุม ทางตอนเหนือและตอนกลางของอินเดียทั้งหมด รวมบังคลาเทศปัจจุบัน จักรวรรดิก่อตั้งขึ้นโดยพระเจ้าศรีคุปต์ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ปาฏลีบุตร ปัจจุบันคือเมืองปัฏนาทางตอนเหนือของรัฐพิหาร

ความรุ่งเรืองของจักรวรรดิภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์คุปตะทำให้มีความเจริญ ในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ และวัฒนธรรมนักประวัติศาสตร์ จัดราชวงศ์คุปตะในระดับเดียวกับราชวงศ์ฮั่น, ราชวงศ์ถัง และจักรวรรดิโรมัน นักวิชาการบางคน ถือว่าเป็นยุคทองของอินเดียในด้านวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, ศิลปะ, วรรณคดี, ตรรกศาสตร์, คณิตศาสตร์, ดาราศาสตร์, 
ศาสนา และปรัชญา