ปรินิพพานสถูป

แดนพุทธภูมิ (สี่สังเวชนียสถาน)

กุสินารา

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอยู่ในแคว้นมัลละ ๑ ใน ๑๖ แคว้น โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือ มีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า “โกสินารกา” และฝ่ายใต้ มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า “ปาเวยยมัลลกะ” ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง ๑๒ กิโลเมตร โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่นๆ ในสมัยพุทธกาลจัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก แต่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองเล็กๆนี้ เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยเพราะทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธสรีระและพระบรมสารีริกธาตุจักถูกแว่นแคว้นต่างๆ แย่งชิงกัน หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็กๆ อย่างเมืองกุสินารา เป็นต้นนี้ ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินารา แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็กจึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

ที่นี่คือ สาลวโนทยาน สถานที่พระพุทธองค์เสด็จมาเพื่อดับขันธปรินิพพาน เดิมนั้นก็เรียกว่า สุศินาคาร์ หรือ กุสินารา บางส่วนก็เรียกชื่อตามท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (Matha-Kunwar-Ka-Kot) มถากัวร์ มาจากคำว่า มฤตกุมาร แปลว่า เจ้าชายสิ้นชีพ คัมภีร์ทางพุทธศาสนาระบุว่า เมืองนี้เคยเป็นที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ เป็นที่เกิด และบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์หลายครั้ง และเคยเป็นราชธานีนามว่ากุสาวดี ของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ในวันเสด็จดับขันธ์ว่า "พระเจ้ามหาสุททัสนะในสมัยนั้นคือเราตถาคตในปัจจุบัน เราย่อมรู้ที่ทอดทิ้งร่างกาย เราไม่เห็นสถานที่ใดในโลก ที่ตถาคตจะทอดทิ้งร่างกายเป็นครั้งสุดท้าย นอกจากสถานที่น้ี"

ในมหาปรินิพพานสูตรเรียกที่นี่ว่า สาลวัน อันเป็นสวนป่าอันอุดมด้วยต้นสาละ ด้านในคัมถีร์สารัตถัปกาสินี เรียกที่นี่ว่า “อุปวัตตนะ" หมายถึง ที่ปรินิพพาน เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงที่นี่ ได้เสด็จขึ้นประทับบนกูฏาคารศาลาของมัลลกษัตริย์ โดยตั้งอยู่ระหว่างไม้สาละคู่หนึ่ง มีลำต้นกลมงามประดุจต้นตาล มียอดโน้มเข้าหากัน แล้วทรงตรัสให้พระอานนท์จัดตั้งที่นอน ผินศีรษะไปทางเหนือ เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทับสีหไสยาสน์ ก็ปรากฏต้นสาละผลิดอกนอกฤดูกาลเป็นอัศจรรย์ ร่วงโปรยถวายสักการะบูชาพระตถาคต พระบรมศาสดาจึงตรัสกับพระอานน เสมือนสอนคนรุ่นต่อมาให้เข้าใจว่า การบูชาก็เท่านี้ พระตถาคตไมยินดีเท่ากับกับพุทธบริษัทประพฤติตาม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรมดี ถือเป็นการบูชาอย่างสูงต่อพระตถาคต นั่นหมายถึง การทำอามิสบูชานั้นก็ถือเป็นการบูชาอย่างหนึ่ง แต่การบูชาให้ถึงควรนอบน้อมด้วยการปฏิบัติบูชา

ในปัจฉิมกาล แห่งราตรีวันเพ็ญเดือน๖ พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนไปแจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์ว่ายามสุดท้ายแห่งราตรี พระพุทธองค์จักปรินิพพาน ด้วยทรงเมตตาเกรงว่าเหล่ากษัตริย์จะร้อนใจภายหลัง พระพุทธองค์ทรงตรัสเตือนและสอนพุทธสาวกของพระองค์ เหล่าทวยเทพ แลพุทธบริษัททั้งหลาย ดั่งเป็นพินัยกรรมฉบับสุดท้าย โดยสรุปความ คือ

สถานที่ควรสังเวช ๔ แห่ง ทรงแสดงสังเวชนียสถาน คือสถานที่ควรสังเวช ๔ คือที่ที่พระตถาคตประสูติ , ตรัสรู้ , แสดงธรรมจักร ปฐมเทศนา และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ว่า CG: ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ (สังเวชนียสถาน) มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

วิธีปฏิบัติในสตรีและพระพุทธสรีระ ตามที่พระอานนท์กราบทูลถามว่า ถึงวิธีปฏิบัติต่อสตรี ภิกษุณี อุบาสิกา และควรดูแลพระพุทธสรีระเช่นไร พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สตรีนั้นภิกษุไม่ควรมอง ถ้าจำเป็นต้องมองก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ แล้วทรงตรัสถึงวิธีปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระ ว่าให้ปฏบัติเช่นเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิ์ โดยทรงแสดงว่า ให้ห่อด้วยผ้าใหม่ แล้วห่อด้วยสำลี สลับเช่นนี้ รวม ๕๐๐ ชั้น แล้วใส่ในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ดาดด้วยผ้า ทำจิตกาธานด้วยของหอมแล้ว จึงถวายพระเพลิง

ผู้ควรแก่การสร้างสถูปบูชา พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงบุคคล ๔ ประเภท ซึ่งเป็น ผู้ควรแก่การสร้างสถูปไว้บูชา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้า และพระเจ้าจักรพรรดิ

ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่า เป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศในการบำเพ็ญพุทธอุปัฏฐาก

โปรดสุภัททปริพพาชก ครั้งนั้น ปริพพาชก หรือนักบวชนอกพุทธศาสนา นามว่าสุภัททะ มาเฝ้า พระอานนท์จะไม่ให้เข้าเฝ้า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ จึงทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าได้ เมื่อได้กราบทูลถามข้อสงสัยและได้ฟังธรรมจึงขอบวชและเพียรพยายามจนได้บรรลุอรหัตตผลคืนนั้นเอง จึงนับเป็นพระพุทธสาวกและพระอรหันต์องค์สุดท้าย

พระธรรมและวินัย พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พุทธสาวกถึงพระธรรมและวินัยว่า
๑. ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว จักเป็นพระศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป. 

๒. ภิกษุทั้งหลายพึงเรียกภิกษุอ่อนกว่า โดยชื่อ โดยโครตร และพึงเรียกภิกษุผู้มีพรรษากว่าว่า ภันเต
๓. เมื่อสงฆ์ปรารถนาก็จะถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียได้
๔. เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือปล่อยให้ทำอะไรตามใจชอบไม่พึงว่ากล่าวตักเตือน

ปัจฉิมโอวาท เมื่อทรงเปิดโอกาสให้ภิกษุทั้งหลาย ถามความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค หรือในข้อปฏิบัติ แต่ก็หามีผู้ใดทูลถาม พระอานนท์จึงกราบทูลแสดงความอัศจรรย์ ทรงตรัสตอบว่า เพราะภิกษุที่ประชุมกันอยู่ถึง ๕๐๐ นี้ อย่างน้อยที่สุดคือเป็นพระโสดาบัน ทรงตรัสเตือนว่า CG:“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” นี้เป็นปัจฉิมวาจาของพระตถาคต

เมื่อพระพุทธองค์ทรงประทานปัจฉิมโอวาท ก็สิ้นพระสุรเสียงเป็นวาระสุดท้าย ทรงทำพระนิพพาน บริกรรมด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลม ถึงดับสัญญาและเวทนา คือไม่รู้สึกทั้งกายทั้งใจทุกประการ แม้ลมหายใจเข้าออกก็หยุดสงบยิ่งกว่านอนหลับ ผู้ไม่คุ้นเช่นพระอานนท์เข้าใจว่าพระบรมศาสดาเข้าสู่นิพพานแล้ว แต่พระอนุรุทธเถระผู้เชี่ยวชาญสมาบัติชี้แจงว่าบัดนี้พระพุทธองค์กำลังเสด็จอยู่ใน สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จากนั้นพระผู้มีพระภาคจึงเสด็จออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ถอยเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือถอยตามลำดับจนถึงปฐมยาม แล้วย้อนจากปฐมยาม ขึ้นไปสู่ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นลำดับสุดท้าย จึงปรินิพพานอยู่ในฌาน โดยไม่ติดในรูปฌานและอรูปฌาน หลังจากที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ได้บังเกิดมหัศจรรย์ แผ่นดินไหว กลองทิพย์บรรเลง เสียงกึกก้องกัมปนาท ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวโกสีย์สักกเทวราช พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระเป็นอาทิ ได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แสดงความไม่เที่ยงถาวรแห่งสังขาร ด้วยความเคารพเลื่อมใส เหล่ามหาชนพุทธบริษัททั้งหลายที่ประชุมกันอยู่ ณ สาลวันนั้นต่างก็โศกเศร้าร้องร่ำไรรำพัน พระอนุรุทธเถระและพระอานนท์เถระเจ้าได้แสดงธรรมกถาปลุกปลอบ เพื่อให้คลายความเศร้าโศกโทมนัส

มหาปรินิพพานสถูป เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่พระสถูปเดิมสร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช ยอดบนสถูปมีฉัตรสามชั้น และมี มหาปรินิพพานวิหาร ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกัน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา อยู่บนพระแท่นทำด้วยหินทรายแดงหรือเรียกว่า จุณศิลา องค์พระพุทธรูปยาว ๒๓ ฟุต ๙ นิ้ว กว้าง ๕ ฟุต ๖ นิ้ว สูง ๒ ฟุต ๑ นิ้ว ที่พระแท่นมีรูปสลักของสุภัททปริพาชกกำลังเข้าไปขอบวช และมีรูปสลักพระอนุรุทธะและพระอานนท์อยู่ด้วย พระพุทธรูปองค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ที่กำลังเสด็จดับขันธปรินิพพาน ประทับนอนบรรทมตะแคงขวา โดยหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก

พระพุทธองค์ทรงพระดำเนินมาถึงที่นี ที่ๆพระองค์ปราถนาจะปรินิพพานในป่า ใต้ควงไม้สาละคู่ ในเมืองเล็กๆแห่งนี้ ขณะทรงอาพาธ ทรงพระชราภาพมากแล้ว ทรงสั่งสอนโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์มาตลอดพระชนม์ชีพ จนครั้งสุดท้ายก็ยังทรงโปรดประทานปัจฉิมโอวาทประกาศธรรม ก่อนที่จะหลับพระเนตร เสมือนแสงสว่างของโลกดับมืดแล้ว